
หลักการและเหตุผล
จังหวัดสงขลา นับเป็นหนึ่งในเมืองท่าสำคัญของคาบสมุทรภาคใต้ของไทย ซึ่งเป็นจุดบรรจบของเส้นทางการค้าโบราณระหว่างซีกโลกตะวันตกและตะวันออกเมื่อราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว มีพัฒนาการทางการค้า และเศรษฐกิจต่อเนื่องมายาวนาน โดยสะท้อนผ่านสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและเงินตราที่ปรากฏในแต่ยุคแต่ละสมัยเงินตราภาคใต้แสดง ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ชุมชนและเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรมที่น่าศึกษาเรียนรู้
และเป็นความภาคภูมิใจในมรดกอันทรงคุณค่าของชาติไทย
เมื่อกรมธนารักษ์มีนโยบายขยายงานการบริหารจัดการเหรียญกษาปณ์ในภูมิภาค โดยการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์จังหวัดสงขลาและโอนภารกิจด้านการรับจ่าย-แลกเหรียญกษาปณ์สังกัดสำนัก
บริหารเงินตราไปสังกัดสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สงขลา รวมทั้งย้ายที่ทำการไปตั้งอยู่ในบริเวณเดียวกันที่ศูนย์บริหารจัดการเหรียญกษาปณ์จังหวัดสงขลาแห่งใหม่ สำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินจึงมีโครงการที่จะ
ปรับปรุงพื้นที่บริเวณศาลาธนารักษ์ ๒ และสำนักงานธนารักษ์พื้นที่สงขลาเดิม เพื่อจัดแสดงทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินเพิ่มเติม รวมทั้งมีการคัดเลือกทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินพร้อมเหรียญกษาปณ์และเงินตราไทย
โดยเฉพาะที่พบในพื้นที่จังหวัดภาคใต้ ออกมาหมุนเวียนจัดแสดง ณ ศาลาธนารักษ์ ๒ เพื่อให้เยาวชนและประชาชนที่อยู่ในส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสเข้าชม รวมทั้งเป็นแหล่งเรียนรู้และค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์เงินตรา เหรียญกษาปณ์ และทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน

วัตถุประสงค์
- เพื่อเป็นพิพิธภัณฑ์ที่เผยแพร่ความรู้ความเข้าใจด้านประวัติศาสตร์เงินตรา เหรียญกษาปณ์ของภูมิภาค
- เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้แก่เยาวชนและประชาชนในส่วนภูมิภาค ในการศึกษาค้นคว้าเกี่ยวกับเหรียญกษาปณ์ ประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมไทย
- เพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดินให้แก่ประชาชนในส่วนภูมิภาคได้มีโอกาสรับรู้ ร่วมชื่นชม และเกิดความภาคภูมิใจ
- เพื่อเผยแพร่ภารกิจของสำนักทรัพย์สินมีค่าของแผ่นดิน กรมธนารักษ์ให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายไปในส่วนภูมิภาค
- เพื่อส่งเสริมกิจกรรมการสะสมเหรียญกษาปณ์ไทยไปยังส่วนภูมิภาคให้มากยิ่งขึ้น

แนวคิดหลัก
เงินตราภาคใต้ การค้าและผู้คนบนแผ่นดินคาบสมุทร
พัฒนาการของเงินตราภาคใต้ ทำให้เห็นถึงความสำคัญของเงินตราในฐานะหลักฐานทาง
ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ที่สะท้อนให้เห็นสภาพเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมของกลุ่มคน
ในภาคใต้และคนต่างถิ่นที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายในแต่ละยุคสมัยได้อย่างชัดเจน ทำให้สามารถ
จินตนาการถึงความเจริญรุ่งเรืองทางการค้า และสภาพวิถีชีวิตที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินคาบสมุทร
ภาคใต้ เพื่อสร้างให้เกิดความภาคภูมิใจในท้องถิ่นอันเป็นเอกลักษณ์
แนวคิดงานออกแบบ
เงินตราภาคใต้ หลักฐาน การเดินทาง การค้า และ ผู้คน
"การเดินทาง" ของเงินตราจะพาย้อนกลับไปสู่เรื่องราวของผู้คนบนคาบสมุทรภาคใต้ ตั้งแต่
เมื่อครั้งดินแดนคาบสมุทรภาคใต้ของไทยเป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางการค้าโบราณสำคัญเมื่อราว ๒,๐๐๐ ปีมาแล้ว ที่เรียกว่า "เส้นทางสายไหมทางทะเล" เป็นจุดเชื่อมเส้นทางการค้าของซีกโลก
ตะวันตก และตะวันออก ซึ่งรู้จักกันดีว่าเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนที่เรียกกันว่า "สุวรรณภูมิ"
พัฒนาการต่อเนื่องมาถึงยุคที่มีการผลิตเงินตราท้องถิ่นขึ้น เพื่อใช้เป็นสื่อกลาง การแลกเปลี่ยน ก่อนจะยกเลิกเงินตราท้องถิ่นในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยเปลี่ยนมาใช้
เงินตราที่ผลิตจากส่วนกลาง ซึ่งมีปริมาณเพียงพอต่อความต้องการ และเป็นเงินตราซึ่งมี
มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระบบสากล
